“ซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์” จับมือ “อินโนพาวเวอร์” ยกระดับพัฒนารูปแบบการ–ซื้อขาย แลกเปลี่ยน REC และ Carbon Credits หนุนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“ซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์” ลงบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ “อินโนพาวเวอร์” บริษัทในเครือ กฟผ. เพื่อพัฒนารูปแบบการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credits ผู้บริหารเผยการร่วมมือดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และสนับสนุนธุรกิจที่มีพันธกิจสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality พร้อมตั้งเป้าหมายรุกขยายฐานลูกค้า
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SUPER) เปิดเผยว่า บริษัท ซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์ จำกัด (Super Carbon X Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (INNOPOWER) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. เพื่อร่วมพัฒนารูปแบบการซื้อขายแลกเปลี่ยน ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits)
ปัจจุบัน บริษัท ซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์ มีความสามารถในการออก REC จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้กลุ่มบริษัทย่อยของ SUPER เป็นจำนวน 700,000 RECs ต่อปี และตั้งเป้าที่จะออก REC เป็น 1,000,000 RECs ต่อปี จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการหรืออยู่ระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียนกับ The International REC Standard Foundation นอกจาก REC แล้ว บริษัท ซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์ ยังสามารถจัดหาคาร์บอนเครดิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าก๊าซชีวมวล ให้แก่ผู้ที่มีความต้องการการชดเชยคาร์บอน หรือ Carbon Offset กว่า 300,000 ตันคาร์บอนเทียบเท่า (tCO2e)
โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ตกลงซื้อ REC ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (Vintage 2022) จากบริษัท ซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์ จำกัด โดยได้มีการส่งมอบ REC ให้บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด แล้วบางส่วน และจะจัดส่งส่วนที่เหลือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
“ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ บริษัทสามารถขยายงานด้านพลังงานทดแทนเพื่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างพันธกิจของ SUPER เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการบริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้ จากกรณีที่การส่งสินค้าไปสภาพยุโรป จะมีการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (carbon border adjustment mechanism) หรือ CBAM ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำ REC หรือคาร์บอนเครดิตไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตสินค้าได้” นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ กฟผ. กล่าวว่า INNOPOWER เป็นผู้ให้บริการขึ้นทะเบียนโครงการพลังงานหมุนเวียน การขอใบรับรอง และการซื้อขายใบรับรองแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อเพิ่มรายได้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และอำนวยความสะดวกให้บริษัทที่มีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance: ESG) ในการบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดได้ตามมาตรฐานสากล
ด้วยความร่วมมือกับ SUPER และซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์ สนับสนุนให้ INNOPOWER สามารถพัฒนาตลาดซื้อขายใบรับรองที่พร้อมรองรับทุกความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ บริษัท INNOPOWER มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีด้วยการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ (Venture Capital) การลงทุนร่วมสร้าง (Venture Builder) และการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมพลังงานและเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยพร้อมเปิดรับพันธมิตรเข้าร่วมขับเคลื่อนไทยก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมไปด้วยกัน